ไม่ว่าแพ้หรือชนะวอลเลย์บอลหญิงถึงครองใจแฟนกีฬาชาวไทย?
ถ้าจะมีสักทีมกีฬา ที่สามารถทำให้ทุกคนในครอบครัว มานั่งหน้าจอรอชมการถ่ายทอดสดได้พร้อมกันทั้งบ้าน ทีมกีฬานั้นก็คงต้องเป็น
NATIONAL TEAM 2001
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศ หันมาสนใจ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย มาจากผลงานของทีมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในระดับนานาชาติ
“มันเกิดจากความบ้าของคนๆ หนึ่ง ที่ไปบอกกับสมาคมว่า ‘ผมอยากพาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ไปให้ถึงระดับโลก’ คนนั้นเขาคือ โค้ชอ๊อด (เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร) ที่รวบรวมเด็กกลุ่มหนึ่งไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่จังหวัดยะลา” เอก – ประวิตร อนันต์ภักดี ผู้สื่อข่าวกีฬาสายวอลเลย์บอล SMMTV กล่าวถึงจุดกำเนิดของทีมวอลเลย์บอลสาวไทย
“ตอนนั้นใครๆ ก็คิดว่าโค้ชอ๊อดโกหก เราจะไปถึงระดับโลกได้ไง ในเมื่อนักกีฬาในทีม มีแต่คนตัวเล็กๆ ขณะที่สมาคมฯ ในเวลานั้นก็ไม่ได้มีงบประมาณมากมาย วอลเลย์บอล เหมือนเป็นกีฬาที่ถูกซ่อนไว้ ถูกมองเป็นกีฬาตุ๊ดแต๋ว ไม่มีมูลค่า สมาคมมีเงินติดบัญชี 700 บาท ถึงขนาดต้องให้นักกีฬาไปทำบัตรผู้ป่วยอนาถา เพื่อใช้สิทธิ์รักษาเวลาได้รับบาดเจ็บ เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะทำการรักษาได้”
National Team 2001 คือชื่อของโปรเจกต์ ที่มีเป้าหมายสร้างผู้เล่นดาวรุ่ง รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ขึ้นมาติดทีมชาติชุดใหญ่ในกรอบระยะเวลา 4 ปี ท่ามกลางข้อจำกัดสำคัญ อย่างเรื่องสรีระส่วนสูง ที่ คนไทยไม่อาจสูงได้เทียบเท่ากับคู่แข่งจากชาติอื่นๆ
การฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ทำให้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงสายเลือดใหม่ เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2002 ทีมชาติไทยชุดใหญ่ ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการใหญ่อย่าง เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ เป็นครั้งแรก ผลปรากฎว่า ลูกทีมของโค้ชอ๊อด แพ้รวดทุกนัด
ก่อนเดินทางกลับ มาร์โค ม็อตตา เฮดโค้ชทีมชาติบราซิล ได้ให้กำลังใจ โค้ชอ๊อด ว่าอย่าเพิ่งถอดใจ หลังจากนั้น กุนซือวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลจากต่างประเทศ ศึกษาแท็คติก เทคนิคใหม่ๆ มาปรับปรุงใช้กับทีม จนทำให้ ทีมนักตบสาวไทย ในปี 2005-2006 เริ่มได้เซ็ทจากชาติคู่แข่งที่เคยแพ้ และจากเซ็ทก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นชัยชนะ
แม้ลีกภายในประเทศจะไม่ได้แข็งแรงนัก แต่สมาคมฯ ก็ใช้ช่วงเวลานี้ส่ง ทีมนักตบสาวไทย ไปแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติถี่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับผลักดันให้ไปเล่นอาชีพในต่างแดน ยังรวมถึงการส่งทีมชาติไทย ลงแข่งรวมกันเป็นหนึ่งทีม ในศึกชิงแชมป์สโมสรเอเชีย เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับพวกเธอ
กระทั่งวินาทีที่ วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์ ขึ้นกระโดดตบที่หัวเสา ลงเป็นคะแนนสุดท้าย พาทีมชาติไทย สร้างประวัติศาสตร์เอาชนะ จีน ได้เป็นครั้งแรก พร้อมกับผงาดคว้า แชมป์เอเชีย สมัยแรก ในปี 2009
กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เป็นที่รู้จักในวงกว้างไปทั่วทั้งประเทศ ผลที่ตามมา คนไทยจำนวนมาก เริ่มหันมา ติดตาม ทีมชุดนี้ เพิ่มขึ้นหลังจากชัยชนะนัด ดังกล่าว
รวมถึงการที่ ไทย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการใหญ่ๆ บ่อยครั้ง ก็ทำให้ วอลเลย์บอลทีมหญิง ใกล้ชิดกับคนดูชาวไทยมากขึ้น
ถึงขนาดที่เกิดปรากฏการณ์ฟีเวอร์คนไปรอซื้อตั๋วตั้งแต่เที่ยงคืน ก่อนวันแข่งขันมาแล้ว ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดทีมชาติไทย มีมูลค่าสูงขึ้นเพราะสามารถสร้างเรตติ้งให้กับช่องทีวีได้อย่างล้นหลาม ไม่เว้นแม้แต่ รายการการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับเยาวชนภายในประเทศ ก็มีการถ่ายทอดสดให้แฟนลูกยาง ได้ติดตามชม
เหนือสิ่งอื่นใด การที่ ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย สามารถรักษามาตรฐานผลงานการเล่นไว้ดี และมีพัฒนาการดีขึ้นทุกปี จนสามารถล้มทีมชั้นนำของโลก อาทิ จีน, ญี่ปุ่น, เซอร์เบีย, รัสเซีย, บราซิล, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้ ฯลฯ
ยิ่งทำให้กระแสของทีมไม่ลดลงไป ต่างกับ ฟุตบอล ที่มีทั้งช่วงบูมและดร็อปไป แถมยังได้แฟนคลับหน้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีก จากการที่ ทีมนักตบลูกยางสาวไทย โด่งดังเป็นที่รู้จัก ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คน ซึ่งพวกเธอเหล่านี้ก็จัดการรับมือ ใช้สื่อออนไลน์ได้เป็น ไม่มีข่าวเสียหาย
ตัวเล็กใจสู้
“กีฬา วอลเลย์บอลมีเสน่ห์มากขึ้นตรงผู้หญิงเล่น ตรงที่ หนึ่ง ผู้เล่นเป็นผู้หญิง ชุดแข่งขันทำให้นักกีฬาดูมีเสน่ห์ ทำให้เค้าดูสวย รูปร่างดี สอง ธรรมชาติของการแข่งขันวอลเลย์บอล มีการตีโต้กันไปมา ไม่เหมือนผู้ชายที่แรงมาก ตีตู้มหาย ดูไม่ทันเลยแต่มันมันส์ มันสะใจ แต่ผู้หญิงมีการตีโต้ไปมา กว่าจะสำเร็จ มันเป็นเสน่ห์สำหรับคนดู 1 พอยท์อาจจะ 7 วินาที หรือ 14 วินาที เราทำวิจัยกันมา เวลาเท่านี้มันบิวท์อารมณ์พอดี ได้ลุ้นนิดหน่อย นี่คือธรรมชาติการเล่นวอลเลย์บอลหญิง”
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งแต้ม สำคัญๆ มันเบียดกันมาทีละนิด จนมาถึง 23 24 25 มันบีบคั้นหัวใจพอสมควร ฉะนั้นผมถึงมีการฝึกซ้อมที่เรียนว่า Psychology Skill Training แปลเป็นไทยว่าการฝึกฝนทางจิต เราเพิ่มเงื่อนไขให้นักกีฬาเริ่มซ้อมที่ 23 เท่า เพื่อให้นักกีฬาเคยชิน กับแต้มที่สูสี แต่เงื่อนไขของผมจะยากขึ้นมาอีกนิดคือ ทีมเอห้ามแพ้ ถ้าแพ้เอาใหม่ ที่ 23 เท่า”
“โดยให้ทีมบีเสิร์ฟก่อน แล้วทีมบีของผม ไม่ใช่ผู้หญิงนะ เป็นผู้ชาย แล้วการที่เรา สามารถสู้กับรัสเซีย คิวบา ได้ เป็นเพราะความเพียรพยายาม ถ้าเราเอาผู้หญิงมาตี มันไม่คณามือเขาแล้ว สบาย แล้วผู้ชายที่ผมเอามา เป็นอดีตทีมชาติ ตบบอลแรงและเร็วมาก”
เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทย อธิบายถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมกีฬาวอลเลย์บอลหญิง ที่สามารถดึงดูดใจได้ดีกว่า วอลเลย์บอลชาย รวมถึงรูปแบบการฝึกสอนของเขา ที่สามารถทำให้ ทีมที่มีค่าเฉลี่ยส่วนสูงเพียงน้อยนิดบนเวทีโลก สามารถปราบคู่แข่งชาติชั้นนำ
นอกจากนี้ โค้ชอ๊อด ยังได้คิดค้นสไตล์การเล่นใหม่ที่แตกต่างจากชาติชั้นนำอื่นๆ ในโลก ให้แก่ ทีมนักตบสาวไทย ที่พลิกจุดด้อยเรื่องสรีระร่างกาย มาเป็น จุดเด่นในเรื่องความคล่องตัว การเคลื่อนที่รวดเร็ว และแท็คติกการเล่นลูกสูตรที่หลากหลายจับทางได้ยาก
“สไตล์การเล่นของไทย มีส่วนทำให้แฟนๆ ที่ติดตามชมประทับใจ ด้วยความที่รูปร่างนักกีฬาเราเป็นรองทุกชาติ ก็ต้องใช้ความคล่องตัว การเคลื่อนที่ การขยับตัวหลอก ดึงบล็อกคู่ต่อสู้ เพราะในกีฬาวอลเลย์บอล ตัวบล็อกจะมองตามการเคลื่อนที่ของผู้เล่นอีกฝั่ง ความแม่นยำในการเล่นลูกสูตร ความไวของเรา ทำให้เรากลายเป็นทีมที่เล่นแตกต่างจากชาติอื่น”
“จากประสบการณ์ที่ผมได้ติดตามทำข่าววอลเลย์บอลในหลายๆ โอกาส ทุกครั้งที่มีการสัมภาษณ์หลังจบเกม โค้ชและกัปตันชาติคู่แข่งที่เจอกับเรา มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทย เป็นทีมที่เล่นด้วยแล้วเหนื่อย เล่นด้วยยาก เพราะนักกีฬาไทยเคลื่อนที่กันตลอด จังหวะรับ รุก เล่นกัน ได้ รวดเร็ว ต่อให้ชนะก็ชนะได้ ยากลำบาก ถ้าดูวอลเลย์ ทีม ชาติไทย เทียบกับ ชาติอื่น เราจะเล่นไม่เหมือน ใคร เลย”
ไม่ว่าแพ้หรือชนะวอลเลย์บอลหญิงถึงครองใจแฟนกีฬาชาวไทย?